การมีความรู้ที่ถูกต้องและดูแลตนเองให้เหมาะสมแต่เนิ่นๆ ถือเป็นการบริหารความเสี่ยงในเชิงป้องกันซึ่งจะช่วยชะลอการปวดหลัง ปวดคอ กระดูกพรุน และข้อเข้าเสื่อมที่จะเกิดขึ้นกับเราได้ในอนาคต นอกจากนี้แล้ว เรายังแวดล้อมไปด้วยพ่อแม่ลุงป้าน้าอาซึ่งเป็นผู้สูงวัยซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคเหล่านี้ได้ง่ายด้วยเช่นกัน
ทำไมเราถึงปวดคอ
อาการปวดคอพบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในออฟฟิศ ผู้ที่นั่งอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน หรือผู้ที่ทำงานโดยที่ต้องก้มคอมากหรือก้มคอเป็นเวลานาน
สาเหตุหลักของการปวดคอนั้นมีได้หลายสาเหตุ ทั้งจากกระดูกต้นคอเสื่อม อิริยาบถที่ผิดสุขลักษณะ เช่น การนอนผิดท่า การนั่งทำงานที่ต้องก้มเงยบ่อย ๆ หรือใช้กล้ามเนื้อคอมาก การขับรถเป็นเวลานานหลายชั่วโมง การอักเสบในผู้ป่วยโรคข้อ เช่น รูมาตอยด์ หรือการอักเสบที่บริเวณคอ เช่น กระดูกคอหัก หมอนรองกระดูกเคลื่อน เอ็นและกล้ามเนื้อรอบข้อต่ออักเสบ รวมถึงสาเหตุอื่น เช่น เนื้องอกและการติดเชื้อก็เป็นได้
ลักษณะของอาการปวดคอ
ผู้ที่มีอาการปวดคอสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่มีอาการปวดคอเพียงอย่างเดียว และ 2) กลุ่มที่มีการปวดเนื่องจากมีการกดทับเส้นประสาทหรือไขประสาท
ผู้ที่มีอาการปวดคอเพียงอย่างเดียวจะมีอาการปวดตื้อที่ศีรษะหรือท้ายทอย และปวดมาจนถึงบ่าและสะบัก ในขณะที่ผู้ที่มีการปวดเนื่องจากมีการกดทับเส้นประสาทหรือไขประสาทนั้น จะมีอาการปวดร้าวที่แขนลงไปจนถึงมือและมีอาการชาร่วมด้วย ผู้ที่เป็นมากๆ อาจมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย ไม่สามารถจะยกไหล่ได้ ขยับนิ้วหรือกระดกข้อมือไม่ขึ้น และจะเดินลำบาก
เราควรต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเวลาปวดคอ
หากมีอาการปวดคอ เราควรต้องหยุดพัก รีบประคบด้วยความร้อนบริเวณกล้ามเนื้อต้นคอที่ปวด อาจมีการใช้ยาเพื่อลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวด หรือใช้ยาร่วมกับการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด นอกจากนี้ อาการปวดคอยังสามารถรักษาได้โดยใช้เครื่องมือที่ทำให้เกิดความร้อนลึก เช่น อัลตร้าซาวด์ หรือการใช้ไฟฟ้าชนิดคลื่นสั้น การฝังเข็ม และการบริหารคออย่างถูกวิธี แต่หากการรักษาเบื้องต้นไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น เราควรไปปรึกษาแพทย์ค่ะ
การบริหารคอ
เราควรบริหารการยืดคอโดยการก้มให้คางลงมาชิดกับตัวสลับกับการหงายศีรษะไปด้านหลัง การหันศีรษะไปทางซ้ายสลับกับการหันศีรษะไปทางขวา การเอียงศีรษะไปด้านซ้ายสลับกับการเอียงศีรษะไปด้านขวา นอกจากนี้ เรายังควรเสริมสร้างความแข็งแรงของต้นคอโดยการเกร็งคอไปข้างหน้าและข้างหลัง หรือการใช้มือมาดันศีรษะด้านข้างค้างไว้ 10 วินาที การบริหารคอที่กล่าวมานั้นควรต้องทำสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เช้า 20 เซต กลางวัน 20 เซตนะคะ
นอกจากนี้ เราควรปฏิบัติตนให้ถูกต้องเพื่อป้องกันอาการปวดคอได้ ดังต่อไปนี้ค่ะ
* ปรับจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา เพื่อจะได้ไม่ต้องนั่งก้มคอเป็นเวลานาน
* นั่งหลังตรงเวลาทำงานหรือขับรถ
* สลับข้างคุยโทรศัพท์เป็นระยะและไม่ควรหนีบโทรศัพท์ที่คอเวลาคุยเป็นอันขาด
* หลีกเลี่ยงการใช้กระเป๋าสะพายที่มีน้ำหนักมาก ควรใช้เป้สะพายหลังแทน
* หลีกเลี่ยงการก้มหรือเงยคอเป็นเวลานาน
* ไม่รีบลุกจากเตียงหรือลุกจากที่นั่งโดยทันที ควรปล่อยให้ไขข้อได้มีการอุ่นเครื่องก่อน
* ใช้หมอนรองคอโดยเฉพาะหรือใช้ผ้าขนหนูพับสอดไว้ใต้คอ
ขอขอบคุณราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และทีมผู้บรรยาย ศาสตราจารย์ คลินิก นายแพทย์ พรชัย มูลพฤกษ์ นายแพทย์ ธำรง เลิศอุดมผลวนิช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ นายแพทย์ ตุลยพฤกษ์ ถาวรสวัสดิรักษ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ นรเทพ กุลโชติ สำหรับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับโรคกระดูกและข้อในผู้สูงอายุให้กับนักศึกษาหลักสูตรสื่อสุขภาพรุ่นที่ 2 ในครั้งนี้คะ
สรุปและเรียบเรียงโดย ดร. ติ๊ดตี่ ปิยวดี โขวิฑูรกิจ กลุ่มดารารัตน์
(credit photo : www.healthline.com)